มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทุ่มงบ 25 ล้านบาท วางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โปรโตคอล ไฮสปีดใหม่ เลือกเทคโนโลยีซิสโก้ให้ดาต้าคร้าฟท์ติดตั้งอุปกรณ์สวิตซ์ 2 วิทยาเขต ทั้งกล้วยน้ำไทและรังสิต รองรับการบริหารจัดการ การใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ และการให้บริการระบบเครือข่าย 24 ชั่วโมง ตามนโยบาย “e-University”
ดร.ธนู กุลชล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพนำไอทีเข้ามาช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ล่าสุดได้ทุ่มงบประมาณกว่า 25 ล้านบาท วางระบบเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพใหม่ทั้ง 2 วิทยาเขต คือ กล้วยน้ำไท และรังสิต โดยร่วมมือกับบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ดาต้าคร้าฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการติดตั้งระบบ
การลงทุนวางระบบเครือข่ายครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาด้านไอทีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพด้วยกัน 4 เรื่อง
หนึ่งคือโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นระบบเครือข่ายที่มีเสถียรภาพ ให้บริการได้ตลอดเวลา สามารถรองรับปริมาณผู้ใช้และข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี
สองคือการให้บริการและพัฒนาให้ระบบงานต่างๆ ทั้งด้านการปฏิบัติงานประจำวัน และการบริหารจัดการทั้งของบุคลากรในมหาวิทยาลัย และนักศึกษา เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบของบริการออนไลน์ครบวงจร
สามคือการจัดการเนื้อหา (Content Management) โดยจะสามารถจัดสรรและควบคุมการใช้งานของเนื้อหาต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยได้ รวมถึงการรองรับ e-Learning หรือระบบวิดีโอ ออน ดีมานด์ ได้เป็นอย่างดี และสี่สุดท้ายคือระบบรักษาความปลอดภัย สามารถกำกับดูแลการใช้งานของผู้ใช้ตามจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยได้ดียิ่งขึ้น และสามารถตรวจสอบหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนระบบเครือข่ายได้ง่ายกว่าเดิม
ประโยชน์ที่ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพจะได้รับจากการติดตั้งระบบเครือข่ายครั้งนี้คือ การบริหารและการดำเนินงาน โดยในปัจจุบันเป็นการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด สามารถให้บริการระบบเครือข่ายได้ตลอดเวลา24ชั่วโมง 7วัน และการใช้งานแอปพลิเคชันที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นในอนาคตใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถใช้งานผ่านระบบหน้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่ได้จัดทำขึ้นเองได้ โดยใช้เทคโนโลยีเครือข่ายแบบ Gigabit Ethernet และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย Bandwidth ขนาด 100 เมกกะบิต ซึ่งในอนาคตมหาวิทยาลัยยังมีแผนที่จะพัฒนาระบบ BI (Business Intelligent ) เพื่อช่วยในด้านการบริหารจัดการสำหรับผู้บริหารระดับต่างๆ อีกด้วย
มหาวิทยาลัยกรุงเทพวางแผนงานด้านไอทีไว้อย่างเป็นระบบคือ
1.ระบบ e-Flow เพื่อให้งานเอกสารภายในมหาวิทยาลัยเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) แบบเต็มรูปแบบทั้งระบบ สามารถติดตามเอกสาร และผู้มีอำนาจสามารถเซ็นอนุมัติได้ โดยระบบความปลอดภัยจะศึกษาทั้งการนำลายเซ็นต์อิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) หรือใช้ร่วมกับบัตรประจำตัวบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยที่เป็นบัตรสมาร์ทการ์ด
2. ช่วยให้การค้นหาข้อมูลในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่เป็นห้องสมุดดิจิตอล ทำได้รวดเร็ว ซึ่งมีทั้งวารสารออนไลน์ หนังสือออนไลน์ และดาต้าเบสออนไลน์ สำหรับนักศึกษาและอาจารย์เพื่อการเรียนการสอน และการทำวิจัย
3. การนำอีเลิร์นนิ่ง (e-Learning) มาเป็นสื่อการเรียนเพื่อให้นักศึกษาศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนตามปกติ ที่มีเนื้อหาเป็นมัลติมีเดีย และวิดิโอออนดีมานด์ ให้นักศึกษาใช้งานได้จากภายในมหาวิทยาลัยที่ได้ติดตั้งระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สาย และไร้สายในสองวิทยาเขต
และ 4. มหาวิทยาลัยมีห้องเรียนที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายทุกห้อง รวมถึง ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องบริการคอมพิวเตอร์สำหรับให้นักศึกษาใช้อินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ศูนย์เรียนรู้ภาษาด้วยตนเอง และห้องปฎิบัติการเฉพาะทางด้านคอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษาทุกสาขา โดยทางมหาวิทยาลัยมีแผนการสร้างห้องปฏิบัติการเฉพาะทางเพิ่มขึ้นคือ Incubation Center หรือศูนย์บ่มเพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งห้องเหล่านี้จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายเพื่อให้นักศึกษาใช้งานได้อย่างเต็มที่
นายอัศวิน กังวลกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ซิสโก้ร่วมมือกับบริษัท ดาต้าคร้าฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายของซิสโก้สวิตซ์ Cisco Catalyst 6500, Cisco Catalyst 3750 และ Cisco Catalyst 2950 สามารถรองรับความต้องการของทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพในปัจจุบัน พร้อมสามารถรองรับการขยายเป็นระบบเครือข่ายแบบ 10 Gigabit Ethernet ได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีระบบซอฟต์แวร์อัจฉริยะ Cisco IOS Advanced Security จะช่วยให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ประโยชน์จากการทำ IPv6, QoS และ Catalyst ‘s Integrated Security Switch
ระบบดังกล่าวสามารถช่วยป้องกันการโจมตีจากภายในระบบเครือข่ายเองเช่น การโจมตีระบบเครือข่าย โดยส่งข้อมูลแบบถึงผู้รับทุกๆ คน เข้าสู่ระบบเครือข่ายที่มากกว่าสถานะการปกติ (Broadcast Storm), การบุกรุก หรือการพยายามนำอุปกรณ์ LAN Switch ที่ไม่ได้รับอนุญาติมาเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายแบบอินเทอร์เน็ต, การโจมตีระบบเครือข่ายโดยอาศัยช่องโหว่ของอุปกรณ์ LAN Switch
“การติดตั้งระบบเครือข่ายมหาวิทยาลัยกรุงเทพครั้งนี้ จะช่วยทำลายกำแพง และระยะทางของ 2 วิทยาเขตทั้งกล้วยน้ำไทและรังสิตให้กับนักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ทุกคนสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและไร้ขีดจำกัด”
Updated 17 ธ.ค. 2549 – โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 มกราคม 2549
****
เรื่องเก่าจากเว็บไซต์ของครูบอย – thinkandclick dot com (ย้อนดู ต้นฉบับ > https://web.archive.org/web/20081121114046/http://www.thinkandclick.com/news/bangkok-university.php )