คอมมูนิตี้ มาร์เก็ตติ้ง การตลาดใหม่โลกออนไลน์

” การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำให้การตลาดสินค้าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดการตลาดแบบใหม่เป็น คอมมูนิตี้ มาร์เก็ตติ้ง (Community Marketing) สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้ซื้อ ที่หันมาใช้การค้นหาจากเวบไซต์ ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเว็บบล็อก (Weblog) เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนการถามผู้รู้ที่เป็นคนใกล้ชิด และบอกต่อๆ กันไป (Word of Mouth)”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการสนทนากับ “นายดิเรก บราวน์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)

บราวน์ พูดถึง คอมมูนิตี้ มาร์เก็ตติ้ง การตลาดสมัยใหม่ยุคนี้ว่า สำหรับไมโครซอฟท์คงยังไม่สามารถสร้างชุมชนการตลาดในลักษณะดังกล่าวได้เองโดยตรง เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นการแบ่งปันความสนใจในเรื่องเดียวกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์

แต่สิ่งที่บริษัทต้องทำ คือ การให้แหล่งข้อมูลที่เพียงพอเพื่อที่ให้ชุมชนเหล่านี้เข้าถึงข้อมูลได้มากที่สุด โดยเฉพาะคอมมูนิตี้อย่าง Most Value Professional ซึ่งเป็นแฟนผู้คลั่งไคล้ไมโครซอฟท์

รายงานการสำรวจของ บริษัทเอซี นีลเส็น โดยการสนับสนุนของอีเบย์ ช่วยสะท้อนถึง “คอมมูนิตี้ มาร์เก็ตติ้ง” ได้ไม่น้อย เอซี ระบุว่าชาวมะกันเกือบ 40% บอกว่ามีส่วนร่วมในชุมชนออนไลน์ผ่านเวบไซต์งานอดิเรก เวบไซต์ที่แบ่งปันความสนใจส่วนตัวร่วมกัน และเวบไซต์สุขภาพ ล้วนเป็นเวบไซต์อันดับต้น ๆ

การสำรวจนี้ได้ทำเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว จำนวน 1,007 ราย โดย 87% บอกว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ ขณะที่ 66% ระบุว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งในเวบไซต์ที่มีความสนใจส่วนตัวคล้าย ๆ กับตัวเอง 62% เข้าร่วมในเวบไซต์งานอดิเรก และ 55% เป็นคอมมูนิตี้ด้านสุขภาพ

และ 49% เข้าเป็นส่วนหนึ่งในเวบไซต์ที่ให้แสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ และ 47% เข้าไปในเวบไซต์คอมเมิร์ซ ที่เหลือส่วนอื่นๆ ร่วมในเวบไซต์ด้านสังคมหรือเครือข่ายธุรกิจ และ 42% เข้าไปในเวบไซต์กีฬา และเวบไซต์ศิษย์เก่า 39% หรือเวบไซต์นัดบอด 23%

ผลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้การตลาดกับชุมชน เวบไซต์อี-คอมเมิร์ซ อย่างโอเวอร์สต็อกดอทคอม และบายดอทคอม ต่างก็เข้าร่วมในการสร้างเครือข่ายสังคม โดยทำเป็นฟีเจอร์หนึ่งในเวบไซต์ หรืออีเบย์ ก็ใช้กระดานสนทนาและระบบการตอบรับ (ฟีดแบ็ค) เพื่อส่งเสริมคอมมูนิตี้

ในรายงานการศึกษานี้ ยังพบว่ากลุ่มคนออนไลน์นี้กว่า 30% มีปฏิสัมพันธ์กับเวบทุกวัน มีเพียง 7% ที่เป็นสมาชิกแบบออฟไลน์ และในกลุ่มออฟไลน์นั้น 47% มีช่องทางในการติดต่อออนไลน์ผ่านทั้งอีเมลและการสนทนาออนไลน์

นอกจากนั้น มีรายงานของนิตยสารฟอร์บ ระบุว่า หลาย ๆ บริษัทต่างขอให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบสินค้าเป็น “Feedback-influenced design” โดยอินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางที่ให้ลูกค้าตอบรับความคิดเห็นได้สะดวกขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ นายจอร์จที่เป็นครูในโรงเรียน ออเร้นจ์ เคาน์ตี้ แคลิฟอร์เนีย เป็นคนรักไอพ็อดมินิมาก เดือนพฤศจิกายนที่แล้ว เขาทำโฆษณาไอพ็อดด้วยตนเอง โดยใช้เวลา 150 ชั่วโมง โฆษณานี้ได้รับการตอบรับปานกลางมีบล็อกหลายแห่งนำไปใช้ และเพียงชั่วเวลาไม่กี่วัน โฆษณาชิ้นดังกล่าวมีผู้เข้าชมกว่า 37,000 ครั้ง และยังปรากฏในไซต์ข่าวและทีวี

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “เวบคอมมูนิตี้” กลายเป็นช่องทางที่ทรงอิทธิพลหนึ่งในทางการตลาดออนไลน์ โดยที่ผู้ซื้อเองก็อาจไม่ทันสังเกตหรือรู้ตัว ทั้งนี้ บริษัทเจ้าของสินค้า โฆษณาออนไลน์ผ่านเวบที่มีกลุ่มเป้าหมายตรงกับสินค้า หรือการโพสต์ประเด็นที่เกี่ยวกับสินค้าลงในกระดานสนทนา ช่วยกระตุ้นกระแสการบอกต่อในเวบได้โดยปริยาย

ทั้งหมดจึงอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ของนักการตลาดในยุคใหม่ ที่จะเข้าใจความเป็นไป และแนวโน้มของเทคโนโลยี เพื่อสามารถจับกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ทัน และสร้างแนวการตลาด และทำโฆษณาใหม่ๆ มาใช้กับลูกค้าในยุคดิจิทัลยุคนี้ได้

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ BizWeek โดย สุจิตร ลีสงวนสุข

**********************

เรื่องเก่าจากเว็บไซต์ของครูบอย – thinkandclick dot com (ย้อนดู ต้นฉบับ > https://web.archive.org/web/20111110182623/http://www.thinkandclick.com/emarketing/community-marketing.php

ลงความเห็น