นักวิชาการชี้ “กูเกิลเอิร์ธ” สามารถสร้างประโยชน์ให้ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค เป็นทั้งขุมทรัพย์สำหรับการโปรโมตธุรกิจให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก และยังเป็นตัวให้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ชั้นยอดที่ผู้บริโภคในตลาดอสังหาฯจะได้รับประโยชน์โดยตรง โดยเฉพาะเรื่องการทำนายการเติบโตของผังเมืองที่เป็นความลับดำมืด เพราะประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลส่วนนี้มาตลอดในอดีต ท่ามกลางข้อกังวลเรื่องการไร้มาตรฐานการจัดประเภทแผนที่ซึ่งผู้ใช้แต่ละคนต่างสร้างขึ้นแล้วนำไปเผยแพร่
ผศ.วิวัฒน์ อุดมปิติทรัพย์ รองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “โปรโมตธุรกิจไทยบนกูเกิลเอิร์ธ” จัดโดย บริษัท ไทยเวนเจอร์ดอทคอม จำกัด ว่า กูเกิลเอิร์ธเป็นแหล่งข้อมูลทางภูมิศาสตร์ หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า GIS (Geographic Information System) บนอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก ที่จะส่งผลดีกับประชาชนทุกคน
“กูเกิลเอิร์ธเป็น GIS บนอินเทอร์เน็ตที่เห็นเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด ไม่ใช่ดีที่สุดเพราะเรื่องของเทคโนโลยีไม่แน่นอน แต่กูเกิลเอิร์ธคือรายแรก เด็กรุ่นใหม่รู้จัก GIS การเห็นโลกทั้งใบจะทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักสถานะอะไรมากขึ้น จริงๆ กูเกิลเอิร์ธเป็นการบูรณาการความรู้ศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องที่ดิน ราคา ผังเมือง การท่องเที่ยว ต่างจากยุคก่อนที่ความรู้จะถูกแยกออกจากกันตามสาขาวิชา เช่น วิศวะก็จะรู้แต่วิศวะ แต่เดี๋ยวนี้จะเป็นการผสมผสาน”
ผู้ใช้สามารถนำความรู้ที่ถูกผสมผสานบนกูเกิลเอิร์ธมาใช้กับกระบวนการตัดสินใจในงานด้านธุรกิจได้ ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคในตลาดธุรกิจท่องเที่ยว การคมนาคม การกำหนดตำแหน่งที่ตั้ง ด้านอสังหาริมทรัพย์ และด้านผังเมือง
ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ตัวบริการของกูเกิลเอิร์ธจะรวบรวมเฉพาะภาพถ่ายผ่านดาวเทียมเท่านั้น ผู้ที่สนใจใช้งานกูเกิลจึงต้องเลือกระหว่างลงมือปักหมุดบอกตำแหน่งสถานที่ หรือทำ place mark ด้วยตัวเอง กับการดาวน์โหลดข้อมูลพิกัดจากเว็บไซต์ที่มีผู้สนใจทำไว้และเปิดแชร์ให้แก่สมาชิก อย่างเช่นเว็บไซต์ไทยกูเกิลเอิร์ธดอทคอม ไทยกาแลกซีดอทคอม เป็นต้น
การเปิดกว้างให้ดาวน์โหลด place mark พร้อมลิงก์ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นี้เองที่เป็นช่องทางสำหรับการรับ-ส่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ ขยายตัว ซึ่งจะส่งให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ด้านผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว สามารถนำกูเกิลเอิร์ธมาใช้เป็นข้อมูลในการจัดเส้นทางท่องเที่ยว สามารถสร้างปัจจัยร่วมอื่นๆเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวได้ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคม สามารถนำไปกำหนดเส้นทางการบิน การเดินรถ หรือเส้นทางการขนส่ง
การฝังลิงก์เว็บไซต์ไว้บนแผนที่ที่เปิดให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดก็เป็นอีกวิธีที่สามารถโปรโมตธุรกิจให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
นอกจากนี้ กูเกิลเอิร์ธยังเป็นประโยชน์ในเรื่องการพิจารณาเพื่อกำหนดที่ตั้งโครงการ เช่นห้างสรรพสินค้า ร้านค้า จุดนี้จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยสามารถใช้กูเกิลเอิร์ธที่มี place mark แล้วเป็นตัวแสดงที่ตั้งโครงการ อาคารตัวอย่าง หรือแสดงพื้นที่รอบๆ โครงการ เป็นภาพถ่ายชัดเจนไม่ใช่แผนที่คร่าวๆ เช่นที่ผ่านมา
สำหรับด้านผู้บริโภค จะได้รับข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องผังเมืองและการทำนายทิศทางการขยายตัวของเขตเมืองที่เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ข้อหลักในการลงทุนซื้อบ้านหรือที่ดิน ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะในแวดวงหน่วยงานจัดทำผังเมืองเท่านั้น
“ความรู้ตรงนี้ยังจำกัดอยู่ที่หน่วยงานภาครัฐ ข้อมูลมันเป็นของทุกคน ทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของข้อมูล ทำไมรัฐไม่เตรียมหรือไม่ซัปพอร์ตการใช้ข้อมูลแผนที่เหล่านี้ คนที่อยากได้ต้องไปติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งก็ต้องใช้เวลานาน”
กูเกิลเอิร์ธนั้นมีปลักอินหรือโปรแกรมเสริมสำหรับให้ผู้ใช้สร้างภาพ 3 มิติขึ้นบนภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่กูเกิลเก็บมาได้ ชื่อโปรแกรมว่า Skatch Up เป็นโปรแกรมสร้างโมเดลสามมิติใช้งานง่าย ซึ่งมีการสร้างโมเดลสามมิติจำลองเมืองนิวยอร์กไว้ทั้งเมืองแล้วขณะนี้ เรื่องนี้ ผศ.วิวัฒน์ กล่าวให้ความเห็นว่า ประเทศไทยก็ควรจะมีโมเดลจำลองทั้งเมืองเช่นเดียวกัน
“เมืองไทยควรจะมีข้อมูล 3 มิติมานานแล้ว สามมิติหมายถึงอะไร หมายถึงการทำ Building Management ได้ด้วย เพื่อควบคุมอาคาร ควรใช้ควบคู่กับกฎหมายผังเมือง” ผศ.วิวัฒน์ กล่าวพร้อมกับย้ำว่าข้อมูลผังเมืองและการทำนายการเติบโตของเมืองเป็นสิ่งที่ประชาชนควรรู้
“ถ้าภาครัฐไม่เปิดเผยว่า (เมือง) จะเป็นยังไง ประชาชนก็ไม่รู้ว่า (ประเทศไทย) จะไปยังไง อินฟอร์เมชันมันฟอร์สคนให้บริโภค ปัญหาคือเขาบริโภคอะไร ข้อมูลที่เขาบริโภคมีคุณภาพพอรึเปล่า”
ยังไร้มาตรฐาน
ผศ.วิวัฒน์แสดงความกังวลว่า การเปิดให้ดาวน์โหลด place mark บนอินเทอร์เน็ตอาจจะซ้ำรอยการทำเว็บลิงก์ในอดีต ที่ยุคหนึ่งมีเว็บลิงก์เหล่านี้ผุดขึ้นราวดอกเห็ด แต่ขาดการจัดการเรื่องมาตรฐาน ซึ่งผลเสียจะตกอยู่ที่การเรียกใช้งาน
“ปัญหาใหญ่อยู่ที่ Base map แผนที่ฐานเป็นคนละตัวกัน ไม่ได้ integrate กัน ตัวใครตัวมัน อาจทำให้ category มั่ว”
ผศ.วิวัฒน์ กล่าวอธิบายว่า “ทุกคนสามารถใส่ข้อมูลได้ ทุกคนก็พยายามสร้างของตัวเอง พอทุกคนเอาไปแชร์กันก็ไปชนกลางอากาศ ใครเป็นแนวหน้าเรื่องนี้ก็ช่วยออกมาจัดมาตรฐานของประเภทหมวดหมู่การทำ place mark ล็อกซ์เลย์ก็ได้ กูเกิลเองก็ไม่ได้กันตรงนี้ไว้ เราจึงต้องหาทางป้องกันก่อนจะสายเกิน”
01 พ.ย. 48 – โดย ผู้จัดการออนไลน์ 31 ตุลาคม 2548
******************
เรื่องเก่าจากเว็บไซต์ของครูบอย – thinkandclick dot com (ย้อนดู ต้นฉบับ > https://web.archive.org/web/20081121094651/http://www.thinkandclick.com/news/google-earth-news.php