กูเกิลเปิดตัว “ดาต้าเบสสาธารณะ” ภายใต้ชื่อ Google Base สำหรับเป็นโฮสต์ให้บริการแก่ประชาชนในการอัปโหลดข้อมูลต่าง ๆ ขึ้นไปได้เอง และจะเปิดให้นักท่องเน็ตรายอื่นสามารถเข้ามาศึกษาหาข้อมูลได้ โดยตั้งเป้าเป็นสถานที่สำหรับให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาค้นหาข้อมูลได้อีกช่องทางหนึ่ง ที่สำคัญบริการนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับผู้ที่ต้องการโพสต์ข้อมูลขึ้นบนเว็บจะต้องป้อนข้อมูล 2 สิ่งสำหรับใช้อธิบายคุณลักษณะของไฟล์ดังกล่าว แบ่งออกเป็นเลเบล (Labels) ในส่วนนี้คือคีย์เวิร์ด คำสำคัญ วลี ที่บ่งบอกถึงข้อมูลของเราว่าเป็นอะไร เช่น ใส่ว่าเป็น recipe (ตำราอาหาร), event (กิจกรรม) ข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่ต้องป้อนคือ Attributes หรือคำอธิบายที่จะช่วยระบุให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ระบุว่าตำราอาหารที่จะโพสต์ขึ้นไปนั้น เป็นประเภท Breakfast (อาหารเช้า), Main Ingredient : Egg, bread (มีส่วนผสมหลักเป็นไข่ ขนมปัง) ฯลฯ เป็นต้น
โดยลักษณะของสิ่งที่จะโพสต์ขึ้นไปนั้นควรเป็นข้อมูลที่เหมาะสม ไม่ใช่ข้อมูลขยะ เช่น สแปม, ภาพลามกอนาจาร แต่ถ้าหากมีข้อมูลที่ไม่เหมาะสมปรากฏขึ้น ผู้ใช้งานสามารถคลิกแจ้งให้ทางเว็บทราบเพื่อดำเนินการกับไฟล์นั้น ๆ ต่อไป
ไฟล์ที่กูเกิลเบสรองรับได้มีทั้งไฟล์ประเภทออนไลน์ และออฟไลน์ ไฟล์ประเภทออนไลน์ได้แก่ ลิงค์หน้าเว็บเพจต่าง ๆ, ลิงค์จากบทความนิตยสารออนไลน์-หนังสือพิมพ์ออนไลน์, ขณะที่ไฟล์แบบออฟไลน์ได้แก่ ไฟล์ภาพ, ไฟล์เอกสาร ฯลฯ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ระบบกูเกิลเบสนี้ยังรองรับได้เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น ภาษาอื่น ๆ ยังไม่สามารถแสดงผลได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการเขียนคำอธิบายคุณลักษณะของไฟล์ต้องอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ
ประเภทของฐานข้อมูลที่เปิดให้ประชาชนโพสต์ขึ้นไป ได้แก่ บล็อก, คูปองสินค้า, ตารางฝึกอบรม, กิจกรรมต่าง ๆ, งาน, ข่าวและบทความ, โปรไฟล์ของบุคคล, ผลิตภัณฑ์, ตำราอาหาร, รีวิว, บริการต่าง ๆ, ยานพาหนะ, หนังสือการ์ตูน, ฯลฯ
อย่างไรก็ดี สำหรับกูเกิลเบสนี้ยังไม่มีฟีเจอร์ใด ๆ สำหรับรองรับการทำธุรกรรมทางธุรกิจ เช่น การซื้อขายสินค้า แต่นักวิเคราะห์ส่วนมากเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่กูเกิลจะเข็นบริการใหม่นี้ไปใช้หารายได้ในเชิงพาณิชย์
แดนนี่ ซูลลิแวน บรรณาธิการผู้หนึ่งกล่าวว่า “ด้วยความสัตย์จริง ผมคิดว่ากูเกิลยังไม่มีแผนใด ๆ กับบริการกูเกิลเบส พวกเขาเพียงแค่พัฒนาเครื่องมือชิ้นนี้ขึ้นมา แล้วก็ส่งออกมาให้คนทั่วไปได้ใช้ จากนั้นจึงติดตามผลว่าคนใช้ทำอะไรกับกูเกิลเบสบ้าง”
ก่อนหน้าการเปิดตัวฐานข้อมูลสาธารณะครั้งนี้ ได้มีการเชิญองค์กรต่าง ๆ มาร่วมทดสอบบริการดังกล่าวแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สถาบันรวบรวมทรัพยากรสากล (The World Resources Institute) ก็ได้ทดลองป้อนข้อมูลผ่านกูเกิลเบสไปประมาณ 5 ล้านเรคอร์ด นอกจากนั้นยังมีเว็บไซต์ต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง
เอมี่ คาสซารา เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสถาบันดังกล่าวเปิดเผยว่า “บริการกูเกิลเบสมีรูปแบบในการป้อนดัชนีที่มีประโยชน์มาก และช่วยให้เชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นเข้าด้วยกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนเว็บของเรา” โดยเธอระบุว่า กูเกิลเบสยังช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมเว็บของสถาบันเพิ่มขึ้นด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์และบริการของกูเกิลเบสได้ที่ http://base.google.com/
Updated 23 พ.ย. 2548 – โดย ผู้จัดการ 22 พฤศจิกายน 2548 11:54 น.
****************
เรื่องเก่าจากเว็บไซต์ของครูบอย – thinkandclick dot com (ย้อนดู ต้นฉบับ > https://web.archive.org/web/20081121110400/http://www.thinkandclick.com/news/google_base_news.php )