จุดยืนของยาฮู..(อยู่ทิศทางไหน?)

เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการจัดแข่งขันความสามารถในการวางแผนกลยุทธ์การพัฒนาด้านธุรกิจ โดยบริษัทที่ปรึกษาทางการวางยุทธศาสตร์ให้กับธุรกิจ องค์กร ฟูลด์ แอนด์ คอมพานี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้กับบุคคลทั่วไปเข้าร่วมในเกมการแข่งขัน หลังจากที่ผ่านมาจะจำกัดเฉพาะกลุ่มภาคธุรกิจ ซึ่งในครั้งที่ผ่านมา เป็นเวทีสำหรับนักเรียนจากสองโรงเรียนดังด้านธุรกิจทั้งจากฮาร์วารด์ และเอ็มไอที โดยมีโจทย์สำคัญในการพัฒนากลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ต อันได้แก่ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ 4 ราย ได้แก่ ยาฮู! กูเกิ้ล เอโอแอล ของไทม์ วอร์เนอร์ และเอ็มเอสเอ็นของไมโครซอฟท์

หลังการแบ่งทีมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ความโดดเด่นของธุรกิจ ในทีมของยาฮู! เลือกที่จะแสดงจุดเด่นที่ว่า ” ไม่จำเป็นต้องเป็นที่สุดในทุกเรื่อง แค่มีสิ่งที่เหมาะกับลูกค้าก็เพียงพอแล้ว” ตรงข้ามกับทีมกูเกิ้ล ที่แสดงความมั่นใจในจุดเด่นที่ “เป็นผู้ให้บริการเพียงผู้เดียวที่มีความโดดเด่นในด้านของการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี” ส่วนทีมเอ็มเอสเอ็น เลือกที่จะพูดถึง “การพัฒนา ยกระดับตัวระบบปฏิบัติการวินโดวส์” มากที่สุด ขณะที่ทีมเอโอแอล เริ่มแนะนำตัวด้วยพูดถึง “ความโชคดีที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในงานครั้งนี้” ซึ่งสุดท้ายจบลงที่ผู้ชนะคือทีมกูเกิ้ล ขณะที่ทีมของยาฮู! มาเป็นลำดับสุดท้าย ส่วนทีมที่ชนะได้รับเงินรางวัลไปทั้งสิ้น 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200,000 บาท)

เกมก็คือเกม หากเป็นโลกแห่งความจริง เดิมพันครั้งนี้คงสูงกว่ามาก แต่สิ่งที่อาจไม่ต่างกันน่าจะเป็นส่วนของการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ธุรกิจขั้นพื้นฐาน ที่แต่ละทีมมองเห็น ดังจะเห็นจาก ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ยาฮู! ประกาศความสำเร็จการเจรจาควบรวมธุรกิจกับอาลีบาบาดอตคอม บริษัทสัญชาติจีนที่จะเปิดทางให้ยาฮู! สามารถเดินเข้าสู่ตลาดอินเตอร์เน็ตแดนมังกรที่กำลังคึกคักได้ โอกาสนั้นเป็นไปได้ แต่หากพิจารณาในด้านของผลิตภัณฑ์ที่ยาฮู! ได้มา กลับมีความเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์เดิมหลักๆ ของยาฮู! ค่อนข้างน้อย

ชี้รูปแบบธุรกิจยาฮูไม่ชัด

เนื่องจาก เว็บไซต์ของยาฮู! โดยหลักๆ เป็นเว็บเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไป ซึ่งมีบริการตั้งแต่เว็บไซต์ค้นหาข้อมูล อี-เมล์ ข้อมูลข่าวสาร ดนตรี รูปภาพ เกม หรือการสื่อสารติดต่อระหว่างผู้ใช้อินเตอร์เน็ตด้วยกันผ่านทางบริการแชต ขณะที่เว็บอาลีบาบาดอตคอม เป็นเว็นที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าประเภทธุรกิจกับธุรกิจ เป็นศูนย์กลางติดต่อซื้อขายระหว่างกลุ่มผู้ค้าส่งในจีนและผู้ค้าปลีกต่างประเทศ

นายเจอร์รี ไมคาลสกี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของเบิร์กเลย์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่ของวิสัยทัศน์ในการขยายบริการให้ครอบคลุมต้องถือเป็นความชาญฉลาดของ นายเทอร์รี ซีเมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของยาฮู! แต่หากเป็นในด้านของกระบวนการและวิธีการที่ใช้ กลับทำให้ยาฮู! กลายเป็นเว็บไซต์ที่ขาดเอกลักษณ์ จุดยืนของตนเอง แน่นอนว่าในแง่ของยาฮู! ซึ่งประกาศตนเป็นเว็บไซต์ที่มีทุกสิ่งที่ทุกคนค้นหา เลือกซื้อหรือเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น คงไม่เห็นด้วย

เมื่อมีข้อพิสูจน์เป็นจำนวนผู้เข้าใช้เว็บไซต์ของตนซึ่งมีอยู่มากกว่า 345 ล้านคน ใน 25 ประเทศ ขณะที่ ในเดือนที่แล้ว รายได้ไตรมาสล่าสุดของยาฮู! เพิ่มสูงขึ้น 51% และมีกำไรเพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

กระนั้น เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติด้านอื่น ยาฮู! อาจไม่ร้อนแรงเช่นที่กล่าวอ้าง ดังเช่นที่ไมโครซอฟท์พิจารณาเห็นว่ากูเกิ้ลอาจเป็นเพียงคู่แข่งเดียวที่สมน้ำสมเนื้อในสมรภูมิอินเตอร์เน็ต เช่นเดียวกับที่กูเกิ้ลมอง ส่วนในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการ คงต้องยกให้กูเกิ้ลที่ถือเป็นผู้นำตลาดด้านการค้นหาข้อมูล หรือเป็นเว็บไซต์ท่าที่ใหญ่ที่สุด จากการทำสำรวจผู้ใช้ในอเมริกาเมื่อเดือนมิ.ย. พบว่า ส่วนแบ่งตลาดบริการเว็บไซต์ท่าของกูเกิ้ลเพิ่มขึ้นไปที่ 52% เทียบกับยาฮู! ซึ่งตกลงไปอยู่ที่ 25% เช่นเดียวกับบริการด้านเพลง บล็อก (ฺBLOG -บริการพื้นที่สำหรับเขียนบทความออนไลน์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต) รูปภาพหรือบริการด้านอื่น ก็ยังมีบริษัทอื่นที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่มองเห็นว่าดีกว่า หรือจะเป็นในมุมมองนักลงทุนที่อยู่ในตลาดวอลล์สตรีท ยาฮู! ก็ยังตามหลังกูเกิ้ลอยู่หลายช่วงตัว มียอดขาดทุนพอๆ กับยอดรายได้ ขณะที่ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของยาฮู! มีมูลค่าเพียง 60% ของกูเกิ้ลซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 3.3 ล้านล้านบาท)

ตั้งเป้ายักษ์ด้านสื่อศตวรรษที่ 21

ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือที่สุดแล้ว ยาฮู! วางตำแหน่งตนเองไว้ต่างจากคู่แข่งอย่างไร ซึ่งตรงนี้ อาจดูได้จากบุคลากรที่สะท้อนภาพรวมขององค์กร โดยยาฮู! ยึดนโยบายจ้างบุคลากรที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อมาก่อนเริ่มจากหัวเรือใหญ่อย่างนายซีเมล อดีตผู้กว้างขวางในแวดวงบันเทิงฮอลลีวูด และเป็นอดีตผู้ไม่ชื่นชอบกับเทคโนโลยีนัก เทียบกับทางฝั่งกูเกิ้ล ซึ่งไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับวงการมายาแม้แต่น้อย

ตรงกันข้ามกลับให้ความสำคัญกับการคัดสรรบุคลากรที่ต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ดังเช่นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารนายอีริค ชมิด เดิมเป็นอดีตผู้บริหารจากโนเวลล์ บริษัทซอฟต์แวร์ และเป็นหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีให้กับซัน ไมโครซิสเต็มส์ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายใหญ่ กรณีดังกล่าว พอจะเห็นภาพโครงสร้างธุรกิจเปรียบเทียบระหว่างกูเกิ้ล และยาฮู! ฝ่ายแรก วางตำแหน่งตนเองไว้ในฐานะบริษัทเทคโนโลยี ที่มีโครงสร้างเป็นระบบ ขั้นตอน ขณะที่ฝ่ายหลัง ชูสถานะตนเองเป็นหนึ่งในบริษัทด้านสื่อ โดยล่าสุด ยาฮู! ทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ และหน่วยงานด้านสื่อ
เพื่อออกให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ต เริ่มตั้งแต่เดือนก.ย. เป็นต้นไป ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ของยาฮู! สามารถชมข่าวจากสถานีโทรทัศน์เอบีซีนิวส์ และซีเอ็นเอ็นในรูปของวีดีโอได้ด้วย ภายใต้เป้าหมายที่ต้องการขึ้นสู่เบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมสื่อแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคที่เกือบทุกคนในอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ต มองเห็นว่า เนื้อหาบนเว็บไซต์ไม่ได้สร้างขึ้นจากบริษัทหนึ่งใดแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป แต่ยังสามารถมาจากการสร้างสรรค์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเอง ไม่ว่าจะเป็นภาพ วีดีโอ บล็อก สถานีวิทยุออนไลน์ (พ้อดคาสต์) ไฮเปอร์ลิงค์ หรือข้อความเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์อื่น

ดังนั้น นอกจากความร่วมมือกับบริษัทสื่อ การซื้อกิจการจากอาลีบาบาดอตคอมแล้ว ยาฮู! ยังเข้าไปซื้อธุรกิจของฟลิกเกอร์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้ผู้เข้าใช้อินเตอร์เน็ตสามารถแบ่งปันรูปภาพกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตคนอื่น และนำมาปรับออกเป็นบริการยาฮู! 360 ออกให้บริการในช่วงฤดูร้อนนี้ เพื่อให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสามารถปรับแต่งรูปภาพ ผสานเข้ากับเพลง ข้อมูลร้านอาหาร และบล็อกในพื้นที่ส่วนตัวที่สามารถเชิญให้ผู้ใช้ยาฮู! คนอื่นเข้ามาพูดคุยกันได้ผ่านทางบริการส่งข้อความด่วน หรืออินสแตนท์ แมสเสจจิ้ง หรือผ่านทางรูปแบบพูดคุยผ่านเสียง สะท้อนภาพการเชื่อมโยงระหว่างบริการเว็บท่ากับชุมชน

อย่างไรก็ตาม นายจอห์น แบทเทลล์ ผู้แต่งหนังสือในอุตสหากรรมเว็บท่า กล่าวว่า การที่ยาฮู! มีเนื้อหาทั้งที่พัฒนาขึ้นเอง และที่มาจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ต อาจก่อปัญหาความขัดแย้งในรูปแบบธุรกิจ เนื่องจากทำให้บริษัทไม่มั่นใจที่จะเดินไปในทิศทางใด จะนำเสนอเนื้อหาในสัดส่วนเท่าใดให้กับผู้ใช้บริการ ระหว่างเนื้อหาของตนเองกับเนื้อหาของบุคคลที่สาม ซึ่งหากว่า เลือกในทางเดินแรก จะเท่ากับยาฮู! ทำลายชื่อเสียง และแบรนด์ของตนเองในฐานะเว็บไซต์ค้นหา ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ในทางตรงข้าม หากเลือกให้น้ำหนักกับเนื้อหาส่วนหลัง ส่วนที่ตนพัฒนาขึ้นมาเองก็จะสูญเปล่า ไม่คุ้มกับที่ตนลงทุนไป กุญแจสำคัญคือ ต้องพยายามรักษาสมดุลในทั้งสองส่วนให้เท่าเทียมเสมอกัน

หากแต่ความขัดแย้งดังกล่าว จะไม่เกิดกับกูเกิ้ลเลย เนื่องจาก กูเกิ้ลเลือกที่จะไม่ผลิตเนื้อหาของตนเอง แต่พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีในการใช้งานมากกว่า เมื่อเทียบกันแล้ว ก้าวต่อไปสำหรับยาฮู! จึงเป็นความท้าทายท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งจะเพลี่ยงพล้ำไม่ได้แม้เพียงก้าวเดียว

จาก ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 21 ส.ค. – 24 ส.ค. 2548

***************

เรื่องเก่าจากเว็บไซต์ของครูบอย – thinkandclick dot com (ย้อนดู ต้นฉบับ > https://web.archive.org/web/20081121115028/http://www.thinkandclick.com/news/news082205yahoo.php )

ลงความเห็น