E- Marketing , E-commerce, E-Business อะไรกันนี่ สับสนไปหมดแล้ว

e-business , e-marketing , e-commerce

ก็อย่างที่หัวข้อได้บอกไว้ล่ะครับ หลายๆ คนคงสับสนกับความหมายของ อี อี เหล่านี้ thinkandclick จึงขอประดิม Section Think E-Marketing ด้วยนิยามของคำเล่านี้เพื่อความเข้าใจมากขึ้น

การตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-marketing)

เรามาเริ่มกันที่ E-Marketing กันก่อนเลยดีกว่าครับ คำว่า E- Marketing ซึ่งย่อมาจาก Electronic Marketing หรือ ” การตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ” หมายถึง การดำเนินกิจกรรมทางการตลาดใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจการทางการตลาดกับกลุ่มเป้าหมาย เป็นกิจกรรมที่เป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง และกิจกรรมที่นักการตลาดสามารถติดต่อกับผู้บริโภคได้ทั่วโลกและตลอดเวลา ( ที่มาจาก www.tradepointthailand.com)

จากความหมายข้างต้น เราพอแยกย่อยออกมาได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

  1. Electronic Tools
    E-Marketing จะต้อง เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดโดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือในการทำการตลาด ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
  2. Niche Market
    เป็นการดำเนินกิจการทางการตลาดกับกลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มเป้าหมายที่ว่านั้นจะต้องเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง เช่น บริษัท กขค ทำธุรกิจขายเพลงป็อปของไทย ต้องการขยายตลาดโดยเจาะลูกค้าที่ชอบเพลงประเภทนี้และมีพฤติกรรมที่ชอบดาวน์โหลดเพลงบนเน็ต จึงจัดทำเว็บไซด์ที่เกี่ยวกับเพลงป็อป และให้ลูกค้าที่เป็นสมาชิกสามารถโหลดเพลง ต.ย. ไปฟังพร้อมข้อเสนอพิเศษต่างๆ เป็นต้น
  3. 2- way Communication
    เป็นกิจกรรมที่มีการสื่อสารแบบ 2 ทาง นั่นหมายถึง กิจกรรมมีการเสนอและตอบสนอง เช่น เมื่อมีการส่ง SMS หรือ ไป โหลดริงโทนจาก Wap Site โดยลูกค้า Server ของผู้ขายก็จะส่ง ริงโทนเข้าไปที่โทรศัพท์มือถือของลูกค้าที่ส่ง SMS ท่านนั้น หรือในกรณีของการดาวน์โหลดเพลงจากเน็ตก็ถือว่าเป็นการสื่อสารแบบ 2 ทางเช่นกัน
  4. Global Communication
    ตามความหมายข้างต้นเราพอบอกได้ว่า กิจกรรมทางการตลาดอิเล็กทรอนิกส์จะต้องสามารถติดต่อกับลูกค้า หรือ กลุ่มเป้าหมายได้ทั่วโลก ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะขัดกับลักษณะของ Niche Market ในข้อสองแต่จริง ๆแล้วคำว่าสื่อสารได้ทั่วโลกในที่นี้หมายถึง การสื่อสารถึงกกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงได้ทั่วโลก เช่นลูกค้าบริษัท กขคในข้อ 1 อาจจะ อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา จีน แต่ยังชอบฟังเพลงป็อปของไทยอยู่ เป็นต้น
  5. 24 hrs/ 7 days
    การตลาดอิเล็กทรอนิกส์จะต้องสามารถที่ติดต่อกับผู้บริโภคได้ตลอด 24 ชม.
  6. ไม่มีวันหยุด ( เว้นแต่เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์นั้นจะอยู่ในภาวะที่ใช้การไม่ได้ )

ในทุกวันนี้ หากเราพูดถึง E – Marketing เราก็จะมักนึกถึง Internet ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นเครื่องมือที่เราเห็นได้ชัดว่าเข้าหลักทั้ง 5 ข้อมากที่สุด ซึ่งการทำการตลาดผ่านอินเตอร์เน็ตนั้น เราเรียกว่า “Online Marketing ” และ Online Marketing ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆได้แก่

  • E-mail Marketing
  • Web banner หรือ Online Advertising อื่นๆ เช่น Text link Ads, Google Adsense
  • Search engine Marketing หรือ การทำตลาดผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้น
  • Viral marketing
  • Web blogs
  • Really Simple Syndication( RSS)
  • Discussion boards หรือ Webboard

แต่อย่างไรก็ดี ยังมีสื่ออื่นๆ ที่เราอาจจะไม่ได้นึกถึงเช่น Mobile (Phone ) Marketing , TV On Demand หรือ IPTV( ทีวีที่ดูผ่านบรอดแบนด์ ) เป็นต้น ซึ่งในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะมีอิทฺธิพลอย่างมากต่อการตลาดอิเล็กทรอนิกส์

การค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)

E-Commerce คำนี้น่าจะเป็นคำที่ติดหู ติดปากกันทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว E-Commerce คือการซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึงปัจจุบัน หมายถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ต ด้วยข้อดีของอินเตอร์เน็ตทำให้การซื้อขายไม่จำกัดด้วยเวลาและสถานที่ ผู้ขายสินค้าจึงไม่จำเป็นต้องจำกัดตลาดของตนเองอยู่เพียงในประเทศเท่านั้น ลูกค้าที่อยู่อีกซีกโลกสามารถสั่งสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตในขณะที่เราซึ่งอยู่อีกซีกหนึ่งกำลังหลับได้อย่างสะดวกสบาย

ถึงอย่างไรก็ตาม การซื้อ-ขายใช่ว่าจะจบกระบวนการที่มีการสั่งซื้อจากลูกค้าและรับคำสั่งซื้อโดยผู้ขายเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องอาศัยกระบวนการทางุรกิจอื่นๆ เพื่อให้การซื้อขายจบกระบวนการ ได้แก่การชำระเงิน ซึ่งอาจจะเป็นการชำระด้วยบัตรเครดิตผ่านเน็ต ซึ่งเป็นการชำระเงินแบบ E-Payment หรือ Online Payment หรือไม่ก็เป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร ซึ่งเป็นการชำระแบบ offline หรือ Offline Payment รวมถึงการจัดส่งสินค้าผ่าน Courier หรือ ไปรษณีย์ หรือการให้ลูกค้าที่ชำระเงินแล้วสามารถดาวน์โหลดซอฟแวร์ได้ เป็นต้น

ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันยังมีความสับสนระหว่าง คำว่า E-Business กับ E-Commerce คำว่า E-Business สำหรับ E-Business ( เขียนอีกแบบก็คือ eBusiness ) นั้นย่อมาจากคำว่า Electronic Business หรือ ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง กระบวนการหรือขั้นตอนใด ๆ ในการดำเนินธุรกิจ (transaction) ที่อาศัยระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางธุรกิจ

E-Business นั้นมีจุดมุ่งหมายหลักที่จะสร้างคุณค่าเพิ่ม (Added Value) ตลอดกระบวนการหรือกิจกรรมทางธุรกิจ (Value Chain)
และลดขั้นตอนของการที่ต้องอาศัยแรงงานคน (Manual Process) มาใช้แรงงานจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Computerized Process)
และช่วยให้การดำเนินงานภายใน ภายนอก และระหว่างองค์กรด้วยกัน เช่น Supplier เป็นต้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าและคู่ค้ามากขึ้นด้วย จะเห็นว่า E-Business ไม่ใช่แค่เพียงการซื้อมา-ขายไปโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจอีกด้วย

Value Chain

ฉะนั้น E-Commerce จึงเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของ E-Business ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของอีกตัวอย่างหนึ่งของการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็คือ เครื่องฝากเงินอัตโนมัติของธนาคาร (Cash Deposit Machine) ทุกวันนี้ เครื่องโอนเงินชนิดนี้ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องคอยต่อแถวฝากเงินเหมือนสมัยก่อนและยังช่วยธนาคารสามารถรับลูกค้ารายอื่น ๆไม่ใช่มาฝากเงินได้มากขึ้น หรือแม้แต่ E-Revenue ของ กรมสรรพากร ที่ช่วยพี่น้องประชาชนไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานของกรมสรรพากรเพื่อยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเหมือนก่อน เพียงเข้าไปที่เว็บไซด์ E-Revenue ของกรมสรรพากร ก็สามารถยื่นแบบฯได้แล้วและยังขอคืนเงินภาษีได้อีกด้วย ก็ถือว่าเป็น การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่นกัน

E-Business จึงไม่ได้จำกัดเพียงเป็นการปรับกระบวนการทางสำหรับองค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไรเท่านั้น แต่ยังรวมถึง องค์กรธุรกิจที่ไม่มุ่งผลกำไร ( Non-Profit Organization) อย่างกรมสรรพากรอีกด้วย E-Business สามารถแบ่งตามรูปแบบการดำเนินงานระหว่างองค์กรได้เป็น

  1. องค์กรกับองค์กร หรือ Business to Business(B-to-B)
    เป็นการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างองค์กรด้วยกัน ไม่ว่าการใช้ อีเมลล์เพื่อสื่อสารระหว่างองค์กร หรือ การใช้ข้อมูลผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน อย่างการเช็คเครดิตของลูกค้าบัตรเครดิตหรือลูกค้าสินเชื่อผ่านองค์กรกลางอย่าง Thai Credit Bureau Company (TCB) โดยธนาคารที่ให้สินเชื่อลูกค้าจะทำการเช็คข้อมูลลูกค้าที่ขอสินเชื่อผ่านระบบข้อมูลออนไลน์ของ TCB เป็นต้น
  2. องค์กรกับลูกค้า หรือ Business to Consumer(B-to-C)
    เป็นการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่พบเห็นมากที่สุด โดยองค์กรธุรกิจจะทำการธุรกรรมไปยังลูกค้าโดยตรง เช่นการค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ตหรือ E-Commerce การรับฝากเงินผ่านเครื่องรับฝากอัตโนมัติ การติดตามการจัดส่ง ไปรษณีย์ EMS หรือ ไปรษณีย์ลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็ตของไปรษณีย์ไทย (http://track.thailandpost.co.th/default.asp)
  3. ลูกค้ากับลูกค้า หรือ Consumer to Consumer (C-to-C)
    การดำเนินการธุรกรรมในระดับลูกค้ากับลูกค้าด้วยกันเอง ตัวอย่างที่พบเห็นได้มากที่สุดคือ เว็บไซด์ประมูลสินค้าอย่าง EBay หรือ thai2hand.com ซึ่งเว็บเหล่านี้ จะเป็นสื่อกลางในการให้ลูกค้าที่ต้องการเสนอซื้อสินค้ามือสองจากผู้ที่สนใจเสนอขายสินค้ามือสองของตน เป็นต้น

ถึงตรงนี้ คงเข้าใจความหมายที่แท้จริงของ E-Marketing, E-Commerce และ E-Business ไม่มากก็น้อยนะครับ สำหรับ thinkandclick.com เองมีเป้าหมายในการที่จะเผยแพร่ส่วนของ E-Marketing ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการทำธุรกิจแบบ E-Commerce และ ดำเนินธุรกิจแบบ E-Business เพราะเราเชื่อว่า การทำธุรกรรมใด ๆ ก็ย่อมต้องอาศัยกลยุทธ์ในการทำการตลาดเพื่อให้การทำธุรกรรมนั้นถูกเป้าหมายอย่างแม่นยำและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และเราเลือกการตลาดอิเล็กทรอนิกส์เป็นเนื้อหาหลักในการเผยแพร่ เพื่อให้คนไทยมีความรู้ในด้านนี้มากขึ้นพอที่จะไปสู้ในเวทีโลกได้ครับ

**************************

เรื่องเก่าจากเว็บไซต์ของครูบอย – thinkandclick dot com (ย้อนดู ต้นฉบับ >https://web.archive.org/web/20111110175821/http://www.thinkandclick.com/emarketing/what-is-emarketing.php  )

ลงความเห็น